จป.บริหาร ตามกฎหมายใหม่ คือใครมีหน้าที่อะไร
เมื่อพูดถึงผู้บริหาร เราคงเข้าใจดีว่า หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่บริหารงานในหน่วยงานนั้น หรือ ที่เราเรียกกันว่า ผู้จัดการ ถ้าพูดถึง จป.บริหาร จะเรียกเต็มๆอย่างเป็นทางการคือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร เราเข้าใจหรือไม่ว่าคือใคร มีหน้าที่อะไร
จป.บริหาร ตามกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือ คณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดไว้ในข้อ 10 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวน 2 คนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้างจำนวน 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับผู้บริหารซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 11 ทุกคนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบการจการภายใน 120 วันนับจากวันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
แต่ถ้าสถานประกอบกิจการไม่มีลูกจ้างระดับบริหาร ก็ให้นายจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารเองซึ่ง จป.บริหาร ก็คือบุคคลที่เป็นลูกจ้างระดับบริหาร ที่มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการด้านความปลอดภัย ในหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ
ถ้าจะเป็น จป. บริหารต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ซึ่งในส่วนของคุณสมบัติของลูกจ้างระดับบริหารที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
- เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. 2549
- มีคุณสมบัติตามข้อ 21 ซึ่งในส่วนของข้อ 21 นั้นได้ระบุถึงคุณสมบัติของ จป.วิชาชีพ เอาไว้
หากลูกจ้างระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ ไม่มีคุณสมบัติตาม 3 ข้อข้างต้น ก็ให้นายจ้างส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึก อบรม จป บริหาร เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง และเมื่อมีการอบรมแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารได้เลย จะต้องมีการแต่งตั้งและแจ้งขึ้นทะเบียน ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของพื้นที่นั้นๆ จึงจะถือว่าเป็น จป.บริหาร โดยถูกต้องตามกฎหมาย
บทบาทหน้าที่ของ จป. บริหาร ตามกฎหมาย
เมื่อพูดถึงหน้าที่ของจป.บริหาร ฟังจากชื่อ เราคงเดาได้ว่า ก็มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการ ด้านความปลอดภัยนั่นแหละ และบริหารจัดการ อย่างไรล่ะ กฎกระทรวงฉบับนี้ ได้กำหนดหน้าที่ของ จป.บริหาร ตามกฎหมายเอาไว้ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของตน
- เสนอแผนงานหรือโครงการด้านความปลอดภัยในการทำงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อนายจ้าง
- ส่งเสริม สบับสนุน และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานหรือโครงการ เพื่อให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการ
- กำกับดูแลและติดตามให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างตามที่ได้รับ
รายงานหรือตามข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัย หรือหน่วยงานความปลอดภัย ผู้บริหาร หรือผู้จัดการ ของแต่ละสถานประกอบกิจการ มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากมาย ตามหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น
- กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และกลยุทธ์ในการผลิต
- วางแผนการผลิตสินค้าให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า
- วิเคราะห์ปัญหาในกระบวนการผลิต หาวิธีแก้ไขปรับปรุง
- ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น
แต่เมื่อผู้บริหารของสถานประกอบกิจการต้องมาเป็น จป.บริหารด้วยแล้ว ย่อมมีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ เนื่องจากกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโดยตำแหน่ง ในส่วนของ จป.บริหาร จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองทุกคน ให้ทำงานด้วยความปลอดภัย ไม่มีอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากการทำงานเกิดขึ้น ซึ่งในการบริหารด้านความปลอดภัยของ
จป.บริหารแต่ละคน ย่อมมีเทคนิคในการบริหารที่แตกต่างกันออกไป แต่ต้องวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในหน่วยงาน
ในแต่วัน จป. บริหาร ควรตรวจสอบหน้างาน เพื่อเป็นการสำรวจการควบคุม ดูแล ของ จป.หัวหน้างาน อีกทีว่าควรปรับปรุง แก้ไข พัฒนาอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ และเมื่อมีการสำรวจ ตรวจสอบ ก็จะเห็นว่าในหน่วยงานที่ตนเองดูแลอยู่ควรพัฒนาอะไรเพิ่มเติม ซึ่งจะนำไปสู่แผนงาน โครงการด้านความปลอดภัย และการลงมือปฏิบัตินั่นเอง และนอกจากที่กล่าวมา จป.บริหาร ต้องคอยช่วย จป.ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนเองทุกคน แก้ปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยด้วย เช่น
- หากพบจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย แต่ไม่สามารถหยุดเครื่องจักรเพื่อแก้ไขได้ เป็นหน้าที่ของ จป.บริหาร ที่ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
- หากพบว่ามีการรายงานจาก จป.หัวหน้างาน ว่าพนักงานไม่มีทักษะ ในการปฏิบัติงานในจุดงานนั้น หากปฏิบัติงานต่อไปอาจเกิดอุบัติเหตุได้ จป.บริหาร จะต้องช่วย จป.หัวหน้างาน ในการพิจารณาตัดใจ เป็นต้น
สรุป
ผู้บริหารที่ผ่านอบรม จป.บริหาร ถือว่ามีอำนาจสูงสุดในหน่วยงานนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากผู้บริหารรู้หน้างาน รู้สภาพการทำงานของพนักงานแต่ละคน เพราะจะทำให้การติดสินใจดำเนินงาน และงบประมาณเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันที